Menu

เส้นทางลองผิดลองถูกของ  ‘คุณบุ๊ค Data ภาษาคน’ คนที่ไม่รู้ว่าอยากทำอะไรแต่โชคดีที่เก่งคาดเดา !

ไหนใครว่าคนสายงาน Data พูดภาษาคนไม่รู้เรื่อง ! วันนี้ Dataholic ได้ชวนคุณบุ๊ค ปฐมภัทร คำตา แอดมินหนึ่งเดียวของเพจ ‘Data ภาษาคน’ มาเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวเส้นทางในวงการ Data ของตัวเองว่าผ่านการเรียนและประสบการณ์ทำงานแบบไหนมาบ้าง

แต่ก่อนจะไปอ่านกัน ขอสปอยไว้เลยว่าอาชีพแรกของคุณบุ๊คเป็นอาชีพเท่ ๆ ที่ให้ทายยังไงก็ทายไม่ถูกแน่นอน เพราะช่วงแรกของวัยทำงานหรือแม้แต่วัยเรียนเอง คุณบุ๊คตัดสินใจเลือกเส้นทางให้ตัวเองแบบสุ่ม ๆ ติสต์ ๆ เลย แต่โชคดีที่คาดเดากระแสโลกเก่ง เลยสวิตช์เปลี่ยนเส้นทางของตัวเองได้ทันตลอดทุกช่วงจังหวะชีวิต

ฟังดูแล้วก็ค่อนข้างแฟนตาซี เพราะแม้แต่จุดเริ่มต้นในการเข้าวงการ Data ของคุณบุ๊คเอง ก็เรียกว่าเกิดจากความบังเอิญที่เปลี่ยนชีวิตคุณบุ๊คได้เลย แล้วในสายตาของคนที่คาดเดาเก่งเหมือนเห็นอนาคตอย่างคุณบุ๊คมองเห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงในวงการ Data ข้างหน้าอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยฮะ !~


เด็กหัวไววิทย์-คณิต ตัดสินใจไปเรียนจิตวิทยา จบมาไปเป็นโบรกเกอร์ขายหุ้น

ย้อนไปถึงวัยเด็ก คุณบุ๊คมีความชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์มาตลอด เมื่อถึงทางแยกที่ต้องเลือกว่าจะเรียนปริญญาตรีคณะไหนดี ท่ามกลางเพื่อนที่สอบติดวิศวะ คุณบุ๊คที่ไม่อยากจะเลือกทางเดินชีวิตเหมือนคนอื่น จึงเลือกไปเรียนจิตวิทยาเอาซะงั้น !?

พอถามว่าทำไมถึงเป็นจิตวิทยา คุณบุ๊คบอกว่าความจริงไม่ได้มีเหตุผลพิเศษ ตอนนั้นตัวเองสโคปที่เรียนให้อยู่ในกรุงเทพฯ เพราะยังอยากใช้ชีวิตใกล้บ้าน แล้วค่อย ๆ เลือกตัดช้อยส์คณะที่ไม่อยากเรียนออก จนเหลือแค่คณะแพทย์ จิตวิทยา วิศวะฯ แล้วก็ตัดสินใจเลือกเรียนจิตวิทยาในโค้งสุดท้าย การตัดสินใจนี้ทำให้คุณบุ๊คงอนง้อกับพ่ออยู่พักใหญ่เลยฮะ

สุดท้ายเรียนจบออกมาคุณบุ๊คก็ไม่ได้ไปทำงานสาย Psychology เพราะในระหว่างเรียนก็โดนวิชาสถิติตกไปก่อน เจ้าตัวบอกว่าทำได้ดีจนได้ฉายาจากเพื่อนว่าเป็น ‘เทพ Stat’ แต่พอเรียนจบ ก็วนมาลูปเดิมที่ว่าไม่รู้จะไปทำงานอะไรดี ก็ได้ ลองผิดลองถูกไปทำงานที่เกี่ยวกับการดูตัวเลขวิเคราะห์ธุรกิจอย่าง โบรกเกอร์ขายหุ้น ซึ่งช่วงนั้นกำลังเป็นยุคทองเลย คุณบุ๊คก็เซียนจัดจนเขียนหนังสือออกมาถึง 2 เล่ม


‘Data Analytics’ หน่วยกิต ป.โท ที่พาชีวิตเข้าสู่วงการ Data

แต่ก็ถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณบุ๊คออกจากงานที่รัก ก็คือเมื่อเพื่อนรอบตัวเริ่มมีการขยับขยายการทำงาน หรือหลายคนเริ่มไปเรียนปริญญาโท ทำให้คุณบุ๊คกลับมาถามตัวเองว่าหรือเราควรจะไปเรียนกับเขาด้วย ?

สุดท้ายก็เลือกไปเรียนการตลาด แล้วได้เจอกับวิชา Data Analytics ที่คุณบุ๊คบอกว่าเป็นวิชาที่เปลี่ยนชีวิตตัวเองไปเลย เพราะเจอกับ Professor คนนึงที่บอกว่า “Data Analytics จะมาเปลี่ยนโลกของการทำ Market Research และการเข้าใจลูกค้าในแบบใหม่ ๆ ” ยิ่งทำให้คุณบุ๊คสนใจวิชานี้ไปอีก

“Market Research แบบเดิม ตอบแค่เรื่องที่เราถาม
แต่ไม่ได้บอกเรื่องที่เราไม่ได้ถาม หรือลูกค้าไม่ได้พูด
แต่ Data Analytics ต่อให้เราไม่ได้ถาม ลูกค้าไม่ได้พูด
ก็สามารถหาข้อมูลจาก Customer Behavior ได้”


สกิลของคนเป็น Team Lead ที่มีแค่ Hard Skill ก็ยังไม่พอให้เติบโต

หลังจากเจอกับประสบการณ์ความเจ๋งของ Data Analytics ในคอร์สปริญญาโทการตลาด คุณบุ๊คก็ไปเรียนต่อ Big Data Engineer ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตต่อทันที ถือเป็นก้าวใหม่ของชีวิตคุณบุ๊คที่เข้ามาสู่สาย Data ด้วยความตั้งใจแบบเต็มตัวหลังจากเลือกเรียนโดยไม่มีเหตุผลเจาะจงมาตลอด

เรียบจบปุ๊บก็ได้ไปทำงานเป็น Data Scientist ที่บริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง เป็นอีกหนึ่งงานที่คุณบุ๊คทำแล้วชอบ เลยได้อยู่ทำงานในสายงานนี้มาเรื่อย ๆ จนปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้ว

ช่วงแรก ๆ ที่คุณบุ๊คได้ขึ้นเป็น Team Lead ก็รู้ตัวว่าเมื่อเราขึ้นไปอยู่ในอีกบทบาทนึง แค่สกิลงานเดิม ๆ อาจไม่พอให้เรารับผิดชอบตำแหน่งสูง ๆ แบบนั้นได้ สมมติเราทำ Machine Learning ได้ ทำ Model ได้ แต่พอเรามานำทีมปุ๊บ มันต้องมีอีกทักษะนึงที่จะทำให้เราเติบโตได้

“What got you here, won’t get you there
สิ่งที่พาเรามาถึงตรงนี้ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราเติบโตต่อได้”

“ถ้าเราอยากมีเงินเดือนเยอะ ๆ อยากโตขึ้นไปเรื่อย ๆ อะไรคือสิ่งที่บริษัทมองหา” คือคำถามที่คุณบุ๊คถามตัวเอง คำตอบคือ ‘การสร้างมูลค่าให้กับองค์กรได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ทำไม่ได้ หรือยังทำไม่เป็น’ ก็เริ่มลิสต์รายการขึ้นมาได้เช่น การประสานงาน, การตัดสินใจ,การบริหารจัดการ, การ Coaching ฯลฯ

โดยเฉพาะ Personalized Decision เป็นสกิลที่ผู้นำต้องใช้ความพยายามมาก เพราะวิธีการแก้ปัญหาเดียวกันอาจได้ผลกับลูกน้องแต่ละคนแตกต่างกัน ประเด็นคือหลายคนไม่ชอบที่จะต้องตัดสินใจเรื่องยาก ๆ แบบนี้ บางคนพร้อมที่จะลาออกถ้าเขาต้องปรับตำแหน่งขึ้นไปแล้วต้องรับผิดชอบตัดสินใจมากขึ้น


‘เรียนแล้วรู้ รู้แล้วสอน’ สูตรโกงเก่งที่เป็นจุดเริ่มต้น ‘Data ภาษาคน’

พอคุณบุ๊คมีไฟที่จะพัฒนาตัวเอง ก็ทุ่มเทให้กับ Passion ด้านนี้หนักขึ้น เลิกงานมาก็นั่งอ่านรีเสิร์ช นั่งเรียนต่ออย่างมุ่งมั่น ตั้งใจว่าถ้าเขาถามอะไรเราก็ต้องตอบให้ได้ มีโปรเจกต์ไหนมาต้องทำให้ได้ เป็นมนุษย์ ‘Yes Man’ ที่ไฟลุกสนุกกับงานมากพอ ๆ กับตอนทำโบรกเกอร์เลย

สุดท้ายคุณบุ๊คก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ระดับหนึ่งและพบว่าแค่เราเรียนหรือทำงานอย่างเดียวยังไม่พอ เราต้องเขียน ต้องสอนคนอื่นได้ด้วย (เหมือนตอนติวให้เพื่อนๆ สมัยเรียน) จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเพจ ‘Data ภาษาคน’ ขึ้นมา เพราะเชื่อว่า

“ถ้าเรายังสอนคนอื่นไม่ได้
ก็แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจมันมากพอ”


4 Set พื้นฐานที่เป็นที่ต้องการในสายงาน Data

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเรื่องบังเอิญหรือเพราะความสามารถในการเห็นกระแสโลกของคุณบุ๊ค ทำให้ตัวเองมักจะ ‘ขึ้นขบวนรถ’ ทันเสมอ ตอนที่ทำงานโบรกเกอร์เอง เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มองเห็นว่าตลาดนั้นเริ่มเป็น Red Ocean ที่การแข่งขันสูงขึ้น การซื้อหุ้นลูกค้าสามารถซื้อได้เองผ่านออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องผ่านนายหน้าอีกต่อไปมากขึ้น จึงรีบลงขบวน (เปลี่ยนงาน) ก่อน

ตอนที่สายงาน Data กำลังมา เป็นงานที่หลายบริษัทต้องการ คุณบุ๊คก็ขึ้นขบวนรถได้ทันก่อนที่จะกลายเป็นที่นิยมอย่างทุกวันนี้

ด้วยเซนส์เรื่องการ Forcast ที่ค่อนข้างแม่น แอดเลยลองถามภาพอนาคตที่คุณบุ๊คเห็นเกี่ยวกับสายงาน Data ว่ากำลังจะเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง คุณบุ๊คก็แสดงความคิดเห็นว่าการใช้ Data จะยังมีอยู่อยู่ยาว ๆ แน่ ๆ และกระแสหลักที่กำลังมาก็คือ AI (ซึ่งต้องใช้ Data) แล้วมีอะไรที่ AI ต้องการอีกบ้าง หนึ่งในนั้นคือ ‘การประมวลผล’ น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณบุ๊คเลยกำลังจับตาดูเทรนด์ของ Quantum Computing อยู่เหมือนกัน

“ยังไง AI ก็มาแน่ ๆ และ Use Cases มันจะมีมากกว่า
การตอบคำถามและสร้างรูปภาพหรือวิดีโอ
แต่จะมีมาให้ใช้ได้อีกหลากหลายเลย

เมื่อความต้องการคนในสายงาน Data มากขึ้น ก็มีคนกระโดดเข้ามาในสายงานนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คุณบุ๊คแอบบอกมาว่าการจะเป็นมนุษย์ Data ที่โดดเด่นจากคนอื่นได้ ต้องมีความเข้าใจและมี DNA ของ 4 สกิลนี้

  1. Mindset : ไม่ว่าจะเป็น Mindset ในการทำงานหรือในการประสานงาน โดยเฉพาะ Growth Mindset และ Outward Mindset จะเป็นวิธีคิดที่ทำให้เราเติบโตไปได้เรื่อย ๆ
  2. Skillset : มีทักษะที่เข้ากับงาน เพราะถ้าบอกว่าตัวเองมี Mindset ที่ดี แต่ไม่มีสกิลการทำงานก็เหมือนการบอกว่าตัวเองไปถึงแม้น้ำอีกฝั่งได้ แต่พอถึงเวลาว่ายจริง ๆ กลับว่ายน้ำไม่เป็น
  3. Toolset : โลกปัจจุบันมีแค่สกิลอย่างเดียวก็ยังไม่พอ แต่ต้องรู้จักการใช้เครื่องมือได้ดีด้วย สมมติบอกว่าเราเก่งสถิติมากเลย แต่ยังเขียนยังคำนวนในการดาษอยู่ เทียบกับอีกคนที่อาจจะเก่งน้อยกว่าเรา แต่เขามีการใช้เครื่องมือ มีการใช้ AI มาช่วยคำนวนได้ ถามว่าใครทำงานเร็วกว่ากัน

“เพราะงานทุกวันนี้ ไม่เก่งไม่กลัว กลัวช้า
โลกมันหมุนไปเร็ว เราต้องใช้ Toolset ทำยังไงให้
ความเก่งเราออกมาให้คนอื่นเห็น”

  1. Dataset : ทุกวันนี้ไม่ว่าอาชีพอะไรก็ใช้ Data Set หมด เช่น แม่บ้านจดบันทึกเวลาการทำงาน, พนักงานจดรายชื่อลูกค้า ฯลฯ Data คืออะไรก็ตามที่ถูกจดบันทึกเอาไว้ได้ เราต้องรู้จักการเก็บและการใช้ Data ให้เป็น

เขียน Resume ยังไงให้ไม่บ้ง ! มี Certificate เยอะ ๆ ดีจริงเหรอ ?

พอคิดว่าเรามีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการทำงานแล้ว อาจจะเคยผ่านประสบการณ์ลองทำงานหรือเคยเข้าคอร์สเรียนเก็บ Certificate มาแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องนำเสนอตัวเองผ่าน Resume หรือ CV ออกมาให้ดูน่าสนใจเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าสัมภาษณ์ใช่ไหมฮะ

สิ่งที่คุณบุ๊คบอกว่าเป็นห่วงคนที่ยื่นงานใหม่ ๆ คือการ Overclaim ว่าตัวเองทำนู่นนี่นั่นได้ แต่จริง ๆ อาจจะแค่เคยแตะ ๆ เฉียด ๆ งานมาเฉย ๆ สิ่งที่ควรเขีนใน Resume จึงไม่ควร Overclaim มากเกินไป บอกว่าตัวเองทำงานนี้ได้ แต่พอเข้ามาทำงานจริงกลับรับแรงกดดันและความยากของงานไม่ได้เพราะยังไม่มีประสบการณ์จริง ๆ 

ถ้าอยากจะนำเสนอว่าเราเคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน ควรเขียนให้ชัดเจนว่าเคยมีส่วนร่วมกับงานหรีอโปรเจกต์นั้นในระดับไหน เป็นเจ้าของโปรเจกต์เลยไหม หรือร่วมกันทำกับคนในทีม แค่ให้คำปรึกษา หรือแค่ช่วยงานนิดหน่อย ฯลฯ

“มี Certificate เป็นเรื่องที่ดี
แต่ต้องเตือนตัวเองเสมอว่า
 Certificate คือสิ่งที่บอกว่าเรารู้อะไรมา
แต่ไม่ได้บอกว่าเราทำอะไรได้”

แล้วเวลาเขียนลำดับการทำงานก็ควรเขียนให้ที่ล่าสุดอยู่ข้างบน แล้วค่อยย้อน ๆ ลงไปถึงที่แรก เพราะบริษัทต้องการจะรู้ว่าความรู้ปัจจุบันของเรามีอะไรบ้าง บางที่อาจไม่ได้มองประสบการณ์ย้อนหลัง 10 ปีของเราด้วยซ้ำ แต่ดูว่า 5 ปีล่าสุดเราทำอะไรมา โดยเฉพาะทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนเร็ว มีอะไรให้เรียนรู้มากขึ้นและไปไว ท่ามกลางองค์ความรู้ที่ท่วมโลกเหล่านั้นคุณได้เข้าถึงและเข้าใจอะไรมาบ้าง


3 คำแนะนำสำหรับคนหางานใหม่ ต้องทำยังไงถ้าอยากโชว์ไหวพริบตอนสัมภาษณ์

สำหรับคนที่กำลังคิดจะย้ายงานใหม่ ถ้าอยากรู้ว่าที่จะย้ายไป จะเวิร์คในแง่ของการทำงานหรือสภาพแวดล้อมหรือไม่ คุณบุ๊คมีข้อแนะนำสำหรับการไปสัมภาษณ์ว่า

  1. ศึกษาไปเยอะ ๆ ถ้าผู้บริหารหรือคนที่เราจะได้ทำงานด้วยเป็น Speaker ก็ลองตามไปฟังว่าเขามี Vision คล้ายกับเรามากแค่ไหน
  2. ถามกลับเยอะ ๆ อย่าจบแค่ถึงการที่เขาถามเราอย่างเดียว แต่เราสามารถถามกลับเขาเพื่อเช็กทัศนคติของคนทำงานที่นี่ได้ด้วย ว่าจะเข้ากับเราได้มากแค่ไหน เพราะการสัมภาษณ์ไม่ใช่แค่เขามาดูตัวเรา แต่เราก็ดูตัวเขาด้วยเหมือนกัน สัมภาษณ์เขากลับได้เลย

“อย่ากลัวที่จะไม่ได้งาน
ให้กลัวว่าได้งานไปแล้วมันไม่ตอบโจทย์เราดีกว่า”

คุณบุ๊คเล่าให้ฟังว่าขั้นตอนการถามกลับสำคัญกับตัวเองมาก ถ้าพูดคุยกันแล้วเวลาไม่พอ คุณบุ๊คจะนัดนอกเวลาเพื่อสัมภาษณ์เขากลับเพิ่มด้วย และที่สำคัญคือย่าเสแสร้งที่จะถาม หลายคนเตรียมคำถามสวย ๆ จากการเสิร์ชเน็ตไปก่อน แต่ HR หรือผู้บริหารที่สัมภาษณ์คนมาเป็นร้อยเขาดูออกว่าอันไหนถามเพื่อให้ดูฉลาดแต่ไม่ได้อยากรู้จริง ๆ

“ถามตอบให้ดูดีเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่า Fake” 

  1. พึ่งโชค ! เราอาจจะศึกษาไปเยอะจนมั่นใจแล้ว แต่ก็มีโอกาสที่เราจะถูก Overclaim จากผู้สัมภาษณ์ได้ เช่นถ้าเราได้คุยกับผู้บริหารที่ไม่ได้รู้เนื้องานจริง ๆ เคยแต่ได้รับรายงานจากลูกน้องว่าทุกอย่างราบรื่นดี ก็อาจเกิดการส่งสารผิด ๆ ได้ หลังจากสัมภาษณ์เสร็จแล้วเขาสนใจรับเราเข้าทำงาน ก็อาจจะลองขอคุยกับหัวหน้าทีมที่เราจะต้องขึ้นตรงด้วยอีกรอบหนึ่ง (ในกรณีที่หัวหน้าทีมไม่ได้เป็นคนสัมภาษณ์เรา หรือสัมภาษณ์ไปในรอบแรกแต่ไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรมาก)

“ถ้าเข้าไปทำงานแล้วมีเหตุผลพอให้ออกก็ลาออกได้เลย
ไม่ต้องกลัวว่าประวัติจะเสียเพราะทำงานได้แปปเดียว
ถ้าหัวหน้าไม่ดีแล้วเราอยู่ด้วยสัก 2 ปี
เราจะเสียเวลาไป 2 ปี โดยที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย”


พอลองได้คุยกันแล้วก็เห็นว่าคุณบุ๊คเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการก้าวหน้าในที่ทำงานมาก มี Passion จะก้าวไปข้างบนเรื่อย ๆ ตลอด แต่ถึงอย่างนั้นบุ๊คก็บอกว่าเข้าใจคนที่สบายใจจะทำงานในระดับกลาง ๆ มากกว่าด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะทำงานสายไหน จะตำแหน่งสูงหรือตำแหน่งต่ำ ขอแค่เป็นที่ที่ทำงานแล้วมีความสุข และเป็นที่ที่พัฒนาเราให้เก่งขึ้นในแบบตัวเองได้ก็พอ ที่สำคัญคือการมี Growth Mindset เพราะถ้าเรามีสกิลนี้ติดตัว ไม่ว่าจะย้ายไปทำที่ไหน เราก็รอด !

Author

RELATED ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save